home
Highlight
July-August
2004
 
ท้ายบท (1)

ทุนการศึกษาวารสารเสียงสิงโต

     ทุกปีบริหารที่ผ่านมา ฝ่ายวารสารเสียงสิงโตนำรายรับที่มากกว่ารายจ่ายส่วนหนึ่งมอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ต่างๆ โดยมอบผ่านผู้ว่าการภาคและสโมสรฯ

     ในปีบริหารนี้ก็เช่นกัน สโมสรฯที่สนใจจะขอทุนการศึกษานี้ เพื่อนำไปมอบแก่เด็กนักเรียนที่มีความจำเป็นในท้องถิ่นของท่าน สามารถติดต่อขอรายละเอียดจากผู้ว่าการภาคของภาคที่สโมสรของท่านสังกัด (รายละเอียดเบื้องต้นท่านสามารถดูได้จาก www.thelionmagazine.org อีกทางหนึ่งด้วย)

     ทุนการศึกษาวารสารเสียงสิงโตนี้ ผู้ว่าการภาคจะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ และเงื่อนไข โดยแต่ละภาคไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่สโมสรฯ ที่ขอทุนจะต้องบริจาคสมทบ (matching fund) ด้วยจำนวนเงินเท่ากับที่จำนวนที่ขอแต่ละทุน ตัวอย่างเช่นทุนละ 2,000.- บาท หากผู้ว่าการภาคอนุมัติ สโมสรฯ จะได้รับ 1,000.- บาท และบริจาคสมทบเองอีก 1,000.- บาท ดังนี้เป็นต้น

     ทุนการศึกษานี้ต้องผ่านผู้ว่าการภาคเท่านั้น และผู้ว่าการภาคจะเป็นผู้พิจารณาและอนุมัติตามเงื่อนไขที่ผู้ว่าการภาคเป็นผู้กำหนดเอง

     เนื่องจากท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นเจ้าของวารสารฯ ในฐานะสมาชิกไลออนส์ในประเทศไทย ดังนั้นอานิสงส์ใดๆ จาการมอบทุนการศึกษานี้ จึงเป็นของท่านผู้อ่านทุกท่าน

   
  ไลออน ปรีชา ตันติคุรุเสถียร
31 กรกฎาคม 2547
tpricha@hotmail.com
www.thelionmagazine.org
   
ท้ายบท (2)
ล้อเลียนโฆษณา : ปู่ชุนกับซอสองสาย
PERCEPTION : ว่าด้วยการรับรู้

     มีใครสงสัยบ้างไหมว่าคนแก่อายุแปดสิบกว่าปีคนหนึ่ง ยังตื่นขึ้นแต่เช้าทุกวันเพื่อทำน้ำซุป แล้วสะพายซอสองสายออกเดินไปยี่สิบกว่ากิโล เพื่อไปเล่นเพลงที่เนินเขา และเขาได้ทำเช่นนี้ทุกวันมาเป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้ว
      ปูชุนสัญญากับภรรยาของแกไว้ว่า จะทำน้ำซุปให้เธอและเล่นเพลงที่เธอชอบให้ฟังทุกเช้า ไปจนตลอดชีวิต..

     นั่นเป็นเรื่องของปู่ชุน แต่ปู่ชุนเองยังมีเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ อีกที่จะมาเล่าให้ฟัง

     ในหมู่บ้านที่ปู่ชุนอยู่นั้น ชาวบ้านนับถือแกมาก ถึงแม้แกจะมีอายุมากแล้ว ต่างก็ยังเชื่อถือและนับถือแกเสมือนหนึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเลยทีเดียว
     ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ยังมีผู้อาวุโสอีกหลายคนที่ต่างก็มีความดี หรือได้ทำความดีมาไม่ยิ่งหย่อนกัน แต่เขาเหล่านั้นกลับไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านเทียบเท่าปู่ชุน ทำให้เกิดความกังขาอย่างยิ่ง จนอยู่มาวันหนึ่งผู้อาวุโสที่ไม่พร่องความดีเหล่านี้ได้มีโอกาสพบเพื่อนเก่าคนหนึ่งซึ่งจากไปนาน เพิ่งกลับมาเยี่ยมเยือนบ้านเดิม
     หลังจากได้ดื่มน้ำชาอย่างชื่นมื่นกันแล้ว เฮียตงผู้มาเยือนจึงได้เสนอความคิดเห็น ตอบข้อกังขาของผู้อาวุโสเหล่านั้น ดังนี้
     เฮียตงได้จากไปหลายสิบปี ได้มีโอกาสพบปะผู้คนมากมาย ได้เรียนรู้และสั่งสมข้อคิดเห็นจากบุคคลต่างๆ ที่มีพื้นฐานอาชีพและความคิดที่ผิดแผกแตกต่างกัน มีอยู่คนหนึ่งที่เฮียตงได้สนทนาด้วยและยังจำคำพูดของชายผู้นี้ได้เป็นอย่างดีถึงแม้เวลาได้ล่วงเลยมานานแล้วก็ตาม
     เพื่อนของเฮียตงคนนี้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์โดยทั่วไปลึกๆ แล้วมักจะใฝ่ดี และอยากทำดีด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่ได้ทำดีก็อาจเป็นเพราะเหตุผลแวดล้อมหรือมีสิ่งจำเป็นนำพาไป ชนิดที่เลวในกมลสันดานแท้ๆ นั้นก็คงมีอยู่บ้างแต่คงมีไม่มาก เพื่อนของเฮียตงคนนี้ยังให้ความเห็นต่อไปว่า การทำดีอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ น่าจะต้องคำนึงถึงการรับรู้ (perception) ของผู้คนด้วย
     ตามที่เฮียตงเข้าใจ คนที่ทำความดีพึงหลีกเลี่ยงการกระทำการใดๆ ที่อาจหมิ่นเหม่ต่อการที่ผู้คนจะเข้าใจผิดได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารู้ว่าซอยไหนมีหมานอนตายอยู่ ก็พยายามอย่าเดินผ่านซอยนั้น เพราะอาจมีผู้เข้าใจผิดว่าเราไปทำอะไรหมาตัวนั้น เพื่อนเฮียตงบอกให้เฮียตงลองคิดดูว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเดินผ่านซอยไหน มีหมานอนตายอยู่ทุกซอย แล้วจะให้ชาวบ้านเขาคิดอย่างไร ไม่คิดว่าใครคนนั้นมีส่วนทำให้หมาตาย อย่างน้อยที่สุดก็อาจคิดว่าเป็นตัวซวยที่นำความตายมาอย่างสม่ำเสมอ
     ถึงบางอ้อตอนนี้เอง เหล่าผู้อาวุโสเริ่มเห็นตามที่เฮียตงเล่าให้ฟัง เป็นเช่นนี้เอง ที่พวกเราทำดีกันมาไม่ยิ่งหย่อนกว่าปู่ชุน แต่การรับรู้ของชาวบ้านนั้นต่างกัน ต่อนี้ไปจะไม่เดินผ่านซอยใดที่มีหมานอนตายอยู่ ตามที่เพื่อนของเฮียตงได้แนะนำไว้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแท้ๆ
     เอียตงได้แต่หัวเราะร่าด้วยความอิ่มใจ ด้วยได้เก็บข้อคิดนี้ไว้ในใจมานานปี เพิ่งจะมีโอกาสเปิดใจในครั้งนี้ พยายามอย่าเดินผ่านซอยที่มีหมานอนตายอยู่
   
ไลออน ปรีชา ตันติคุรุเสถียร
15 กรกฎาคม 2547 
tpricha@hotmail.com
www.thelionmagazine.org
  
THE LION MAGAZINES
THE LION SCHOLARSHIP
EDITOR'S HOME CLUB
MAGAZINE COVERS
OTHER EDITIONS
THE LIONS CLUBS INTERNATIONAL
ATTRACTIONS IN THAILAND