home
Highlight
January - February 2005
 
ท้ายบท

เสียงสิงโต ฉบับ เก่าๆ

      ผมไม่ทราบว่ามีท่านผู้อ่านท่านใดเก็บวารสารเสียงสิงโตฉบับเก่าๆไว้บ้างหรือไม่ หรือบางท่านที่มีเก็บไว้บ้างได้นำบางฉบับออกมาดูอีกครั้งหรือไม่
      เท่าที่ผมนึกได้ เห็นจะมีไลออน พ . ต . ต . เชาวลิต สิงห็เจริญ ท่านหนึ่ง และไลออน นพดล ปุโรทกานนท์อีกท่านหนึ่งที่นิยมหยิบวารสารฯฉบับเก่าๆขึ้นมาดูเป็นครั้งคราว คงจะมีท่านอื่นๆอีกเพียงแต่ยังไม่ได้พบปะและพูดคุยกัน
      ช่วงวันหยุดปีใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ ผมได้มีโอกาสหยิบวารสารฯฉบับเก่า 2 – 3 ฉบับมาพลิกๆดู ทำให้ได้คิดถึงเรื่องเก่าๆดีเหมือนกัน
:: ฉบับที่ 6/2543-2544
      ในฉบับนี้ได้เห็นเรื่องราวเก่าๆหลายเรื่องเลยทีเดียว ไม่ว่าเป็นภาพชุดการแถลงข่าว เรื่องที่ภาครวม 310 ได้รับเลือกจากไลออนส์สากลให้จัดงานประชุมใหญ่ประจำปีของไลออนส์สากลเองในปี ค . ศ . 2008 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในการแถลงข่าวในครั้งนั้นมีนายภราเดช พยัฆวิเชียร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายสมัคร สุนทรเวชผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วย
      นอกจากนั้นมีการไว้อาลัยไลออน สมรักษ์ วรรธนานุสาร กรรมการฝ่ายวารสารเสียงสิงโตที่จากไปด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2544
      ยังมี จดหมายจากผู้อ่าน จากไลออนสมมารถ ภูวนัตตรัย เขียนมาเรื่อง Om Mani Padme Aum
     แถมด้วยการรวบรวมปกวารสารฯฉบับต่างๆ ตั้งแต่ปีพ . ศ . 2526 ถึงมิถุนายน 2544
:: ฉบับที่ 5/2541-2542

      ในฉบับนี้ก็เช่นกัน มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่อย่างมาก เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่สมาคมสโมสรไลออนส์สากลทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “Humanitarian Award” เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2542 ณ . ศาลาสิดาลัย สวนจิตรลดา นำคณะเข้าเฝ้าโดยนายกไลออนส์สากลจากประเทศไทยในขณะนั้นคือ ไลออน ร . อ . ขจิต หัพนานนท์
      ยังมีภาพชุดงานเลี้ยงต้อนรับคณะกรรมการอำนวยการไลออนส์สากล โดยรัฐบาลไทย ณ . กระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 มีนาคมในปีเดียวกัน ซึ่งมีนายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นเป็นตัวแทนจากภาครัฐ
      ในฉบับนี้ยังมีคอลัมน์ “ มุมลีโอ ” เขียนโดยไลออน สมรักษ์ วรรธนานุสารอยู่เลย อย่างที่ทราบกันอยู่ท่านได้เขียนคอลัมน์นี้มาหลายปี จนวาระสุดท้าย
      นอกเหนือจากนั้น ได้พลิกดูและเห็นเรื่อง “ ประโยชน์ของพนักงานที่ออกจากงาน ” โดยไลออน สายัณห์ จันทรวิภาสวงศ์ เรื่อง “ แต่งบ้านให้รวยด้วยฮวงจุ้ย ” ของไลออน ภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล และเรื่อง ” ซี่โครงหมูนึ่งดอกไม้จีนเห็ดหูหนู ” จากนักเขียนรับเชิญ ไลออน มนัสนันท์ วังสุนทร เป็นต้น
      อ้อ คอลัมน์ยอดฮิตเกี่ยวกับอาหารในตอนนั้นของไลออน มนูศักดิ์ จงไพศาล ยังใช้ชื่อ “ อร่อยแบบไลออนส์ ” อยู่ ตอนนี้เปลี่ยนเป็น “ อร่อยอย่าบอกใครเชียว ” อย่างที่ท่านผู้อ่านคงจะทราบอยู่แล้ว

:: ฉบับที่ 3/2540-2541
      ในฉบับนี้มีบทความหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิเช่น “ สมาชิกภาพไลออนส์ ” โดยไลออน วิศิษฎ์ กิตติกูล เรื่อง “ ศูนย์พิทักษ์สายตาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ” โดยไลออน น . พ . ชาญชัย เศรษฐสุวรรณ เรื่อง “ บุหรี่ … ชีวิตริบหรี่ ” จากไลออน น . พ . ขจิต ชูปัญญา และเรื่อง “ ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ” จากไลออน จินดาพร ไตรรัตนาภา เป็นต้น
      แถมยังมีภาพป้ายต้อนรับเข้าเมืองของสโมสรไลออนส์ราชบุรี และสโมสรไลออนส์นครชัยศรี อีกด้วย
      แค่หยิบขึ้นมาดูเพียง 3 ฉบับยังทำให้เพลิดเพลินถึงเพียงนี้ ว่างๆจะได้หยิบฉบับเก่าๆมาพลิกดูอีก เพื่อย้อนรำลึกถึงสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในอดีต และเพื่อเตรียมรับสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
   
  ไลออน ปรีชา ตันติคุรุเสถียร
15 มกราคม 2548
tpricha@hotmail.com
www.thelionmagazine.org
   
มหันตภัยคลื่นยักษ์ สึนามิ

โดย ไลออน สุทัศน์ ตันติษัณสกุล
ผู้ว่าการไลออนส์สากล ภาค 310 ปี

      เช้าของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลา 07.58 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ ได้ก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า สึนามิ ( TSUNAMI) พัดถล่มเข้าฝั่ง สร้างความเสียหายอย่างมากมายมหาศาลให้กับประเทศในแถบเอเชีย ตั้งแต่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา เกาะมัลดีฟย์ บังคลาเทศ พม่า และภาคใต้ของประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไข่มุกอันดามัน ตั้งแต่ สตูล ตรัง ภูเก็ต พังงา กระบี่ และระนอง รวม 6 จังหวัดของภาคใต้

      ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับภาคใต้ของเรา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านมากมายจนไม่อาจจะคาดหมายได้ว่า ทุกอย่างจะกลับคืนมาเหมือนปกติได้อีกนานแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตผู้คนที่ต้องสังเวยภัยธรรมชาติ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงแรมที่พัก วัดวาอาราม โรงเรียน สถานที่ราชการ แหล่งทำมาหากิน ทรัพย์สินที่มีค่าของชาวบ้านทั่วไป ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่ถูกทำลายราบเรียบไปในชั่วไม่กี่นาที ที่คลื่นยักษ์โถมกระหน่ำจากทะเลเข้าสู่ชายฝั่ง นอกเหนือจากสิ่งปลูกสร้างแล้ว คลื่นยักษ์ยังได้ทำลายทรัพยากรทางทะเลบริเวณฝั่งอันดามันเสียหายค่อนข้างยับเยิน โดยเฉพาะแนวปะการังที่เสียหายราบเป็นหน้ากอง เพราะเกิดจากแรงอัดของคลื่น และการทับถมของดินและโคลนที่เกิดจากคลื่น ซึ่งจะต้องใช้เวลายาวนานในการฟื้นฟู การเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์มัจจุราชที่กลืนชีวิตมนุษย์ไปอย่างบ้าคลั่งนับหมื่นแสนชีวิตแล้ว ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อคหรือแรงสั่นสะเทือนหลังเกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายระลอก ตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุ สึนามิ ที่ซัดถล่มหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียนี้ ยังขยับเพิ่มขึ้นไม่หยุด จนเกินหลักแสนเข้าไปแล้ว และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถประเมินค่าได้ นับเป็นภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดของเอเชียรวมทั้งประเทศไทยทีเดียว พร้อมกับข่าวที่สร้างความสะเทือนใจและเศร้าโศกมาสู่คนไทยทั้งประเทศอีกข่าวก็คือ การสูญเสียคุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิโหมกระหน่ำชายฝั่งอันดามันบริเวณเขาหลัก จังหวัดพังงา ครั้งนี้ด้วย ซึ่งหลังจากพบร่างของคุณพุ่ม เจนเซ่นแล้ว พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงขับเครื่องบินพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ไปรับศพคุณพุ่ม เจนเซ่น และนำเข้าสู่ศาลาสหทัยสมาคมพระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพิธีต่อไป

      ผู้คนที่อาบแดดยามสายแถวหาดต่างๆ ในป่าตอง ภูเก็ต เขาหลัก พังงา เกาะพีพี กระบี่ ตลอดจนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ชายหาด ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านบางม่วง บางสัก บ้านปากลีบ บ้านคึกคัก บ้านบางเนียง ฐานทัพเรือทับละมุ ในอำเภอตะกั่วป่า พังงา หมู่บ้านสุขสำราญ ระนอง ซึ่งบางหมู่บ้านพบศพเกลื่อนชายหาด โดยเฉพาะ เขาหลัก ที่กำลังรุ่งโรจน์ขึ้นมาเป็นแดนสวรรค์สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่มีการลงทุนอย่างมหาศาล มีรีสอร์ต โรงแรมหรูในระดับ 4-5 ดาวเกิดขึ้นมากที่สุด ใครเลยจะคาดคิดว่า จะกลับกลายเป็นสุสานที่เต็มไปด้วยเศษซากสิ่งของปรักหักพัง และซากศพของผู้เสียชีวิตมากที่สุดในบรรดาจุดต่างๆ ที่ถูกคลื่นยักษ์ถล่มตลอดแนวฝั่งอันดามัน สถานที่พักชื่อดังไม่ต่ำกว่า 30 แห่งในแนวถนนเพชรเกษม เลียบชายทะเลด้านเขาหลักถูกถล่มยับจนแทบจำเค้าเดิมของความงดงามไม่ได้ ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวอันเป็นหัวใจของภูเก็ตด้านหาดป่าตอง หาดกมลา หาดสุรินทร์ หาดราไวย์ หาดกะตะ และหาดกะรน ก็เสียหายวินาศสันตะโรไม่น้อยหน้ากันกับแหล่งท่องเที่ยวชื่อก้องโลกอย่างเกาะพีพี กระบี่ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่อาศัยใกล้ๆ ชายทะเล นอกจากอาชีพประมง หาปลาในทะเลแล้ว ยังมีการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาในกระชัง ตลอดจนอาชีพบริการนักท่องเที่ยว ต่างก็เดือดร้อนเสียหายไปตามๆ กัน ปัญหาที่ตามมา ก็คือ ไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีเครื่องมือทำกิน เด็กๆ ไม่มีที่เรียน ไม่มีเงินทองใช้จ่ายในการดำรงชีพแต่ละวัน เหตุร้ายที่เกิดขึ้นสร้างความเศร้าสลดให้กับครอบครัวผู้ที่สูญเสียอย่างยากที่จะกล่าวได้ เมื่อภาพข่าวแพร่ไปในทางโทรทัศน์ ธารน้ำใจจากคนไทยทุกหมู่เหล่าก็หลั่งไหลลงสู่ภาคใต้ ไม่เพียงแต่บริจาคเงินทอง สิ่งของเท่านั้น อาสาสมัครจำนวนมาก ต่างพากันทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศที่ประสบเหตุโดยทั่วกัน ทุกคนไปช่วยด้วยใจ โดยไม่หวังค่าจ้างแรงงานใดๆ ทำให้ฟรีๆ เหน็ดเหนื่อยท่ามกลางเปลวแดดที่ร้อน ท่ามกลางกลิ่นซากศพมากมาย ทุกคนช่วยด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็คือ ให้เขาเหล่านั้นได้กลับไปบ้านของเขา

      การช่วยเหลือ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนมูลนิธิการกุศลต่างๆ ก็ระดมกันลงไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาผู้ที่มีชีวิตรอดอยู่ หรือ การค้นหาและเก็บศพของผู้ที่เสียชีวิตแล้ว สำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่และได้รับบาดเจ็บ ก็นำเข้ารักษาในโรงพยาบาลทั่วตัวเมืองพังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนำเข้าสู่โรงพยาบาลในกรุงเทพๆ ส่วนผู้คนที่เสียชีวิต ก็นำร่างที่ไร้วิญญาณเข้าศาลาวัดที่เต็มไปด้วยศพทั้งชาวบ้านที่เป็นคนไทย แรงงานพม่า ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมากมายหลายร้อย หลายพันศพ จากวันแรก ก้าวเข้าสู่วันที่สอง สาม สี่ และห้า ตามลำดับ ก็เริ่มส่งกลิ่นไปทั่วทั้งเมือง รายที่มีญาติรับไป ก็ทำพิธีตามประเพณี ทั้งเผา-ฝัง แต่บางรายที่ยังหาญาติไม่พบ ก็ต้องเก็บไว้รอญาติ ส่งกลิ่นไปทั่ว ล่าสุดพบศพแล้ว 5 พันกว่าศพ และที่สูญหายอีกนับพัน ที่ยังหาไม่พบ กลายเป็นบุคคลสูญหายไป ซึ่งก็คาดหมายว่าน่าจะไม่มีโอกาสมีชีวิตรอดอยู่อีกแล้ว ส่วนสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ก็เสียหายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หมู่บ้านสุขสำราญ ของระนอง เกาะพีพี ระนอง ก็มีสภาพที่ไม่แพ้กันหลายหมู่บ้านในตะกั่วป่า พังงา

      ไลออนส์ของเรา ก็ไม่ได้นิ่งดูดาย ขบวนน้ำใจและสิ่งของที่สมาชิกจากสโมสรไลออนส์ ได้บริจาคโดยผ่านสภาภาครวม 310 ประเทศไทย ในเบื้องต้น จำนวน 2 รถสิบล้อ มีข้าวสาร น้ำดื่ม รองเท้า เสื้อผ้า ผ้าถุง ผ้าขาวม้า นม เวชภัณฑ์ยาประจำบ้าน ผ้าห่อศพ และเครื่องใช้ในครัวเรือน มูลค่ากว่า 500,000 บาท และมวลสมาชิกทุกภาค ที่ระดมบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านสภาภาครวมมากมายหลายแสนบาท จนไม่สามารถที่จะกล่าวนามได้ทุกคน ขอขอบคุณในน้ำใจไมตรีและจิตอันเป็นกุศลทุกท่าน ที่ร่วมมอบสิ่งของที่ระดมไปช่วยโดยคณะก็ได้เดินทางในเย็นวันที่ 30 ธันวาคม หลังจากที่ประชุมสภาภาครวมไปแล้วโดยรถตู้ 3 คัน ก็ออกเดินทางสู่ภาคใต้ ถึงตะกั่วป่า (จุดแรกที่เสียหายมากที่สุด) ในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 โดยการนำของท่านประธานสภา เลขาธิการ เหรัญญิก และกรรมการสภาภาครวม ตลอดจนมวลสมาชิกของสโมสรไลออนส์ราชบุรี, ขวัญเมืองราชบุรี, ธนบุรี, ตากสิน, กรุงเทพฯพระมาหานคร, ศรีราชา และมวลสมาชิกในท้องถิ่น ตั้งแต่สโมสรไลออนส์ตะกั่วป่า ภูเก็ต ทุ่งสง พุนพิน ศรีสุราษฎร์ สุธานี ชุมพรทรายรี และสุราษฎร์ธานี ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกัน นำสิ่งของประทังชีพ ไปแจกจ่ายกัน ตลอดทั้งวัน ท่ามกลางซากปรักหักพัง กลิ่นที่โชยไปทั่วทั้งเมือง และฝุ่นที่ฟุ้งกระจายตลอดเส้นทางที่รถผ่าน แต่ทุกคนก็ไม่ท้อถอย ต้องขอขอบคุณในน้ำใจไมตรีที่มีให้ในยามที่เกิดภัยพิบัติ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนก็ไม่ทิ้งกัน ต่างก็ร่วมมือร่วมใจกันด้วยความสมัครสมาน สามัคคี กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีการแตกแยกว่าสโมสรไหน ภาคไหน ทุกคนคือสมาชิกของสโมสรไลออนส์ ทั้งนั้น โดยใช้การบริจาคช่วยเหลือในนามของมูลนิธิไลออนส์แห่งประเทศไทย เฉพาะกิจการช่วยเหลือภัยพิบัติภาคใต้ สึนามิ การช่วยเหลือในเบื้องต้น ที่ผ่านมานับว่าหลายๆ องค์การ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็ระดมช่วยกันมากมาย แต่หลังจากนี้ไปแล้ว การที่จะฟื้นฟูให้พวกเขาอยู่ได้มีอาชีพ มีเครื่องมือทำมาหากิน ให้เหมือนปกติที่พวกเขาเคยอยู่กันก่อนที่จะเกิดภัยพิบัตินี้ซิที่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งไลออนส์ก็ได้คิดและกำลังจะหาทางช่วยเหลือในภายหลัง ในขณะที่หลายๆ คนต่างก็ค่อยๆ ลืม แต่บรรดาผู้ที่ประสบภัยเหล่านั้น ก็คงยากที่จะลืมและก็กำลังรอคอยความช่วยเหลืออยู่ทุกวินาที ทุกลมหายใจที่เขายังมีอยู่ ซึ่งก็คงจะได้ดำเนินการผ่านสภาภาครวม 310 ประเทศไทย โดยมีภาค 310 ปี เป็นหัวหอกในการเดินหน้าช่วยเหลือต่อไป
      ก่อนที่จะจบบทความนี้ ต้องขอกล่าวขอบคุณสมาชิกไลออนส์ทุกๆ คนทั้งในประเทศไทยและหลายๆ สโมสรในต่างประเทศทั่วโลกที่มีสโมสรไลออนส์ เมื่อทราบข่าว ก็ได้ร่วมสมทบทุนทั้งเงินทอง ของใช้ต่างๆ เพื่อซับน้ำตาผู้ประสบภัยพิบัติ สึนามิ ที่เขายากจะลืมได้ในชั่วชีวิตนี้
   
  ไลออน ปรีชา ตันติคุรุเสถียร
15 มกราคม 2548
tpricha@hotmail.com
www.thelionmagazine.org
THE LION MAGAZINES
THE LION SCHOLARSHIP
EDITOR'S HOME CLUB
MAGAZINE COVERS
OTHER EDITIONS
THE LIONS CLUBS INTERNATIONAL
ATTRACTIONS IN THAILAND